ชีวิตในสถานศึกษากับชีวิตจริงนั้นมีความแตกต่างกันมาก การเรียนในมหาวิทยาลัยอาจจะเป็นอะไรที่สนุกสนาน แต่ชีวิตการทำงานนั้นไม่ได้สนุกสนานอย่างที่หลายคนคิด…. คุณอาจจะตระหนักถึงความจริงข้อนี้หลังจากที่เรียนจบออกมา 5 ปี แล้วแต่พบว่าตัวเองยังไม่ได้ก้าวไปถึงไหนเลย ทั้งหน้าที่การงานและ เรื่องการเงิน…
นอกจากนี้ ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ถดถอยจนไม่รู้จะถอยยังไงแล้ว ข้าวยากหมากแพง รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะค่าครองชีพที่สูงขึ้น ค่าสังคม (อย่างเช่น ค่าใส่ซองงานแต่งของเพื่อนฝูง) แต่รายได้ของคุณยังคงที่ ไม่มีเพิ่มขึ้น คุณอาจเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า คุณจะไหวเหรอ กับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ วันเช่นนี้?
ถ้าคุณไม่อยากจบออกมาแล้วเจอเหตุการณ์อย่างเช่นที่กล่าวมาข้างต้น ลองอ่านบทความเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องทำกับ เรื่องการเงิน ของคุณ ในช่วง 5 ปีแรกหลังจากจบการศึกษา ที่ MoneyGuru.co.th นำมาฝากในวันนี้ดูค่ะ
1.เงินสำรองฉุกเฉิน
รถเสีย, คนในบ้านป่วย หรือบ้านชำรุด…คุณจะไม่ต้องกังวลกับเหตุการณ์ที่กล่าวมาเลย หากคุณมีเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งวิธีที่คุณจะมีเงินสำรองฉุกเฉินนั้นมีหลายวิธี และวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมใช้กันมากที่สุดคือการฝากประจำกับธนาคารค่ะ
สำหรับเงินสำรองฉุกเฉินที่ทุกคนควรมีเบื้องต้น ต้องครอบคลุมค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 3-6 เดือนค่ะ แต่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเก็บเงินก้อนใหญ่ทีเดียว หรือเก็บเงินจนรัดเข็มขัดตัวเองเกินไปนะคะ ค่อย ๆ เก็บไปทีละนิด ๆ ฝากเงินเข้าบัญชีฝากประจำทุก ๆ เดือน ไม่นานคุณก็จะได้เงินก้อนใหญ่เองค่ะ แถมบัญชีฝากประจำจะมีดอกเบี้ยที่ดีกว่าด้วยนะคะ
2.วางแผนเกษียณอายุ
หากคุณไม่อยากตกอับในช่วงวัยชรา เหมือนบั้นปลายของใครหลายคนในรายการวงเวียนชีวิต เราแนะนำให้คุณเริ่มวางแผนเกษียณอายุตั้งแต่เนิ่น ๆ จะให้พูดกันจริง ๆ ก็ตั้งแต่ได้เงินเดือนเดือนแรกมานี่แหละค่ะ เมื่อคุณทำงานคุณอาจลองถามบริษัทที่คุณทำงานดูว่าเขามีประกันสังคมหรือเปล่า เพราะประกันสังคมก็สามารถให้เงินคุณเมื่อตอนที่คุณเกษียณอายุได้ แต่ไม่มากนัก
นอกจากนี้ คุณยังสามารถลงทุนในกองทุนรวม LTF RMF เพื่อเก็บเงินในการเกษียณอายุก็ได้นะคะ หรือจะทำประกันชีวิตในรูปแบบออมเงินสำหรับเกษียณอายุก็ได้เช่นกันค่ะ
3.ชำระหนี้ กยศ.
หากคุณไม่อยากทำงานไปแล้วเจอกับปัญหาเรื่องการไม่ชำระหนี้ กยศ. โดนสังคมประนามว่าเป็นคนไม่ดี อย่างที่ออกข่าวกันครึกโครม เราขอแนะนำให้คุณเรียนจบแล้วรีบชำระหนี้ให้เร็วที่สุดค่ะ โดยทั่วไปแล้วหนี้ กยศ. จะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการชำระหนี้คืน แต่คุณอาจใช้เวลาน้อยกว่านั้นได้หากคุณชำระหนี้ กยศ. มากกว่าขั้นต่ำที่กำหนดเอาไว้ค่ะ
4.ว่าด้วยเรื่องบัตรเครดิต
ก่อนที่คุณจะทำบัตรเครดิต คุณควรถามตัวเองก่อนว่าคุณรู้จักบัตรเครดิตดีพอหรือไม่? หากคุณมีบัตรเครดิตและคุณใช้มัน นั่นหมายความว่าคุณจะต้องใช้หนี้บัตรเครดิตในทุก ๆ เดือนพร้อมกับดอกเบี้ย หากคุณยังเงินเดือนไม่มากนัก แถมยังมีการใช้จ่ายเดือนชนเดือนล่ะก็ อย่าเพิ่งคิดที่จะสมัครบัตรเครดิตเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะคุณอาจจะพบเจอกับหายนะทางการเงินได้ง่าย ๆ เลยแหละค่ะ
หรือถ้าหากคุณจำเป็นต้องมีบัตรเครดิตจริง ๆ เพราะไลฟสไตล์และการใช้ชีวิตของคุณไม่เอื้อต่อการใช้จ่ายด้วยเงินสด คุณอาจจะใช้บัตรเดบิตก็ได้นะคะ รูดปรี๊ด ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องพกเงินเหมือนกัน เพียงแต่ว่าหากไม่มีเงินในบัญชี คุณจะไม่สามารถรูดบัตรได้เท่านั้นเองค่ะ แถมการรูดกี่ครั้งก็ไม่ต้องมีเรื่องของดอกเบี้ยมาให้รกสมองด้วย
แต่ถ้าคุณจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตจริง ๆ เราก็ไม่ห้ามค่ะ ขอเพียงแค่คุณรู้จักวิธีใช้บัตรเครดิตอย่างชาญฉลาด ไม่ให้ตกเป็นทาสของดอกเบี้ยมหาศาล ที่ใช้เวลาในการชำระคืนนานหลายปีหากคุณชำระขั้นต่ำต่อเดือน
ขอบคุณเนื้อหาบทความดีดีจาก @ money.sanook.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น